องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ : www.tambonbanrai.go.th
 
 
จำนวนผู้เข้าชม
จำนวน คน
ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฏาคม 2560

สภาพทั่วไป

1.1  ที่ตั้งของตำบล

ตำบลบ้านไร่  ได้ก่อตั้งเป็นตำบลบ้านไร่ ในปี  พ.ศ.2538  จัดตั้งเป็นสภาตำบลบ้านไร่ ในปี  พ.ศ.2539 และได้ยกฐานะ จากสภาตำบลบ้านไร่   เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่  ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ลงวันที่  19  มกราคม พ..2539   ได้ยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดเล็ก  เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง  ตามมติคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดชัยภูมิ (ก.อบต.จังหวัดชัยภูมิ )  ในการประชุมครั้งที่  14/2552  เมื่อวันที่  28  ธันวาคม  2552 

          องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่  เป็นตำบลหนึ่งในจำนวน  5  ตำบล  ของอำเภอเทพสถิต   จังหวัดชัยภูมิ  ที่ทำการตั้งอยู่หมู่ที่  11  บ้านไร่พัฒนา   อำเภอเทพสถิต   จังหวัดชัยภูมิ    ห่างจากที่ว่าการอำเภอเทพสถิต    ไปทางทิศใต้ของอำเภอเทพสถิตประมาณ  24  กิโลเมตร  และห่างจากจังหวัดชัยภูมิ  ประมาณ  100  กิโลเมตร   การเดินทางเข้าสู่พื้นที่โดยทางรถยนต์  จากกรุงเทพฯ มาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ผ่านสระบุรีจนถึงบ้าน  พุแค เลี้ยวขวามาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข  21  จนถึงอำเภอชัยบาดาล  แล้วใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข  205  ผ่านกิ่งอำเภอลำสนธิ ก่อนถึงอำเภอเทพสถิตประมาณ 1 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2354 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนลาดยางระยะทางประมาณ  2 กิโลเมตร  ก็จะถึงที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ รวมระยะทางประมาณ 260 กิโลเมตร

จากจังหวัดนครราชสีมา  ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205   ผ่านอำเภอโนนไทย   บ้านหนองบัวโคก บ้านคำปิง เมื่อเลยอำเภอเทพสถิตมาประมาณ 1 กิโลเมตร ให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2354 ระยะทางทางประมาณ 17 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนลาดยางระยะทางประมาณ 2  กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร                                                            .

1.2   ลักษณะภูมิประเทศ

          สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป   มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา  สลับกับที่รายเนินเขา   ประกอบไปด้วยภูเขาต่างๆ เช่น เขาพังเหย มีความสูงประมาณ 200 - 800 เมตร ทางธรณีวิทยาของพื้นที่เป็นหมวดหินภูพานหมวดหินพระวิหาร และหมวดหินภูกระดึง เป็นหินในระหว่างช่วงเวลาประมาณ 180 - 230 ล้านปี ยุคจูแลสสิกและไทรแอสสิก  เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารลุ่มน้ำชี (แม่น้ำชี)  ลำน้ำสนธิ ซึ่งไหลลงแม่น้ำป่าสักมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์   เช่น  ป่าไม้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ  เช่น  ป่าหินงาม  ทุ่งดอกกระเจียว  น้ำตกตามธรรมชาติ               .

1.3  ลักษณะภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไป อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จากลักษณะของแนวเทือกเขาพังเหยกั้นอยู่ในแนวเหนือใต้ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นจากทะเลมาตกเป็นฝนในพื้นที่เป็นปริมาณมากจากข้อมูลของสถานีตรวจอากาศอุทยานแห่งชาติป่าหินงามในระหว่าง พ.ศ. 2543–2546 พบว่ามีปริมาณน้ำฝนตลอดปีเฉลี่ย 1,782.6 มิลลิเมตร มีจำนวนวันที่ฝนตก 109 วัน/ปี โดยมีฝนตกชุกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม วัดได้ 338.3 มิลลิเมตร ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายน วัดได้ 33 องศาเซลเซียส และเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนธันวาคม วัดได้ 18.3 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี วัดได้ 24.8 องศาเซลเซียส สำหรับฤดูกาลเมื่อพิจารณาตามลักษณะอุณหภูมิ ประมาณน้ำฝน และความชื้นสัมพัทธ์แล้ว สามารถแบ่งฤดูกาลได้ดังนี้ 

ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 278.5 มิลลิเมตร 
ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนตุลาคม - มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ย 23.2 องศาเซลเซียส 
ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ย 25.9 องศาเซลเซียส

          1.4  ลักษณะของดิน  

            ลักษณะพื้นที่ส่วนให้ของตำบลบ้านไร่  เป็น ดินที่ดอน หรือ ดินไร่ คือ ดินที่พบอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีความลาดชัน สภาพพื้นที่อาจเป็นที่ราบ ที่ลาดเชิงเขา หรือเป็นลูกคลื่น มีการระบายน้ำดี โดยทั่วไปจะไม่มีการขังน้ำเมื่อฝนตก พบอยู่ทั่วไปในภูมิภาคต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชไร่  ไม้ผล  หรือไม้ยืนต้นอื่นๆ

          1.5  ลักษณะของแหล่งน้ำ

              น้ำผิวดิน แหล่งน้ำผิวดินตามธรรมชาติประกอบด้วย แม่น้ำ คำคลอง หนอง บึง น้ำตก ส่วนอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนกักเก็บน้ำต่าง ๆ จัดเป็นแหล่งน้ำที่ถูกสร้างขึ้นด้วยมนุษย์ เมื่อดูอย่างผิวเผินแล้ว จะเห็นว่าเรามีน้ำจืดอยู่มากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปริมาณน้ำจืดที่มีอยู่และสามารถนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการดำรงชีวิตได้นั้นมีน้อย  เมื่อเทียบกับปริมาณของน้ำทะเล

              น้ำใต้ดิน เป็นแหล่งน้ำอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีปริมาณของน้ำน้อยกว่าแหล่งน้ำ 2 ประเภทแรก กล่าวคือ แหล่งน้ำนี้เกิดจากการที่น้ำผิวดินซึมผ่านพื้นดินลงสู่ระดับที่ต่ำกว่าแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล ไปสะสมปริมาณน้ำอยู่ด้านล่างของแหล่งน้ำ ดังกล่าวนี้ การนำน้ำจากแหล่งน้ำประเภทนี้ขึ้นมาใช้ จะทำโดยการขุดบ่อลงไปจนถึงชั้นน้ำและสูบน้ำขึ้นมา

          1.6  ลักษณะของไม้/ป่าไม้

              ป่าดิบแล้ง   ป่าชนิดนี้พบตั้งแต่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  100  เมตร  ขึ้นไปถึง 800  เมตร   สภาพป่าเป็นป่าเต็งรังผสมผลัดใบป่าดิบแล้ง มีไม้เหียงเป็นไม้เด่น และมี เต็ง รัง พะยอม ก่อ กะบก ประดู่ อินทนิลบก ส้าน ฯลฯ   สัตว์ป่า ได้แก่ เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า นิ่ม เม่น อ้น อีเห็น กระรอก ลิง ฯลฯ